คุณค่าด้านเนื้อหา
มงคลสูตรคำฉันท์ เป็นวรรณคดีที่มีเนื้อหาเป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนา ว่าด้วยเรื่องของ มลคล ๓๘ ประการ ซึ่งเป็นคำสอนที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ โดยเน้นว่า “การปฏิบัติด้วยตนเอง” เป็นลำดับจากง่ายไปยาก และถ้าหากปฏิบัติได้แล้ว จะทำให้ชีวิตมีแต่ความก้าวหน้าและผาสุก โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยใดๆ ภายนอก เนื่องจากการปฏิบัติด้วยตนเองย่อมมอบความเป็นมงคลที่แท้จริงให้แก่ชีวิต ซึ่งนอกจากจะนำพาชีวิตของแต่ละคนไปในทางที่เจริญแล้ว ยังพลอยทำให้สังคมโดยรวมสงบสุขและเจริญก้าวหน้าตามไปด้วย
นอกจากนี้คำสอนในมงคล ๓๘ ประการ ยังเป็นแนวทางที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ด้วยมีความสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตในทุกช่วงวัย โดยเริ่มต้นจากระดับพื้นฐานที่สำคัญ คือ การคบคน ดังความที่ว่า
(๑) อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา
ปูชา จ ปูชะนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
หนึ่งคือบ่คบพาล เพราะจะพาประพฤติผิด
หนึ่งคบกะบัณฑิต เพราะจะพาประสบผล
หนึ่งกราบและบูชา อภิบูชนีย์ชน
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี
คำประพันธ์บทนี้กล่าวถึงมงคลประการที่ ๑ ถึง ๓ ซึ่งเป็นข้อแนะนำเกี่ยวกับการคบคนหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่อยู่รอบข้างหรือที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน ตั้งแต่การให้หลีกเลี่ยงจาก คนพาล การสมาคมกับคนดี และการมีสัมมาคารวะต่อบุคคลที่พึงเคารพ ซึ่งล้วนแต่เป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับทุกคน เนื่องจากการที่เราคบเช่นใด โอกาสที่จะทำให้เรากลายเป็นคนเช่นนั้นหรือมีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน ย่อมเป็นไปได้มาก และนอกจากการรู้จักเลือกคบคนแล้ว การมี สัมมาคารวะหรือการรู้จักเคารพนบนอบต่อบุคคลที่ควรบูชาหรือที่ควรนับถือ ย่อมทำให้เราเป็นที่รักใคร่เอ็นดูของบุคคลทั่วไป และยังได้รับความเมตตาหรือคำแนะนำที่ดีและที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตอีกด้วย
นอกจากมงคลสูตรคำฉันท์จะมีการแปลและเรียบเรียงเนื้อความจากคาถาภาษาบาลีแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงอธิบายขยายความมงคลในแต่ละข้อเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจความหมายได้อย่างชัดเจน เช่น ในคาถาที่ ๗ กล่าวถึงมงคลข้อที่ ๒๒ คือ มีความเคารพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอธิบายได้ชัดเจนขึ้นว่า ควรมีความเคารพผู้ใด และในมงคลข้อที่ ๒๔ มีความสันโดษ ได้ทรงอธิบายเพิ่มเติมว่ามีความหมายอย่างไร
(๗) คารโว จ นิวาโต จ สนฺตุฎฺฐี จ กตญฺญุตา
กาเลน ธมฺมสฺสวนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
เคารพ ณ ผู้ควร จะประณตและนอบศีร์
อีกหนึ่งมิได้มี จะกระด้างและจองหอง
ยินดี ณ ของตน บ่มิโลภทะยานปอง
อีกรู้คุณาของ นรผู้ประคองตน
ฟังธรรมะโดยกา - ละเจริญคุณานันท์
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี
สำหรับมงคลในบทอื่นๆ เป็นข้อแนะนำที่สอดคล้องไปตามวัยและวุฒิภาวะ ตั้งแต่การปฏิบัติตนที่เป็นมงคลเมื่ออยู่ในช่วงวัยที่จะต้องศึกษาเล่าเรียนวิชา เมื่อมีหน้าที่การงาน เมื่อมีครอบครัว เรื่อยไปจนถึงวัยที่ควรละวางจากกิจกรรมทั้งหลาย เพื่อแสวงหาสัจธรรมในบั้นปลายของชีวิต จนท้ายที่สุดสามารถละกิเลสอันเป็นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวงเพื่อมุ่งสู่ความสงบสุขที่แท้จริง คือ การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายในวัฏสงสารซึ่งเป็นอุดมคติสูงสุดของพระพุทธศาสนา
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใด ย่อมสามารถนำมงคลแต่ละข้อไปปฏิบัติได้โดยให้มีความเหมาะสมแก่กาลเทศะ กำลังสติปัญญา และความสามารถของแต่ละคน
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
เนื้อความในมงคลสูตรคำฉันท์ แม้จะมีที่มาจากคาถาบาลีและมีคำศัพท์ในทางพระพุทธศาสนาอยู่เป็นอันมาก แต่ก็เป็นคำที่เข้าใจความหมายได้ไม่ยาก เช่น โสตถิ ภควันต์ อภิบูชนีย์ชน เป็นต้น
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสามารถถ่ายทอดและเรียบเรียงเนื้อความเป็นภาษาไทยได้อย่างเรียบง่าย แต่มีความไพเราะสละสลวย และสามารถสื่อความหมายได้อย่างชัดเจน ดังเช่น
ครั้งนั้นแลเทวดา องค์หนึ่งมหา –
นุภาพมหิทธิ์ฤทธี
ล่วงประถมยามราตรี เธอเปล่งรัศมี
อันเรืองระยับจับเนตร
แสงกายเธอปลั่งยังเขต สวนแห่งเจ้าเซต
สว่างกระจ่างทั่วไป
องค์ภควันต์นั้นไซร้ ประทับแห่งใด
ก็เข้าไปถึงที่นั้น ฯ
ครั้นเข้าใกล้แล้วจึ่งพลัน ถวายอภิวันท์
แต่องค์สมเด็จทศพล
แล้วยืนที่ควรดำกล เสงี่ยมเจียมตน
แสดงเคารพนบคีร์
ข้อความข้างต้นเป็นบทประพันธ์ที่มีถ้อยคำเรียบง่าย แต่สามารถบรรยายให้เห็นถึง มหิทธานุภาพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใด แม้แต่เทวดาซึ่งมีฤทธิ์และมีรัศมีเปล่งประกายสว่างไสวไปทั่วเชตะวันมหาวิหาร ก็ยัง “ถวายอภิวันท์” แต่ “สมเด็จทศพล” หรือพระพุทธเจ้า ด้วยความ “เสงี่ยมเจียมตัว”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงเลืกสรรถ้อยคำได้สอดคล้องกับลีลาจังหวะของบทประพันธ์ โดยเฉพาะฉันท์ ซึ่งมีเกณฑ์ที่สำคัญคือเรื่องเสียงหนัก – เบาของคำหรือ ครุ – ลหุ ด้วยการซ้ำคำ เช่น ซ้ำคำว่า “อีก” ทำให้เนื้อความของมงคลแต่ละข้อเด่นชัดและผู้อ่านสามารถลำดับความและเข้าใจเนื้อหาของบทประพันธ์ในแต่ละวรรคได้เป็นอย่างดี
ตัวอย่างการซ้ำคำว่า “อีก”
ความได้สดับมาก และกำหนดสุวาที
อีกศิลปะศาสตร์มี จะประกอบมนุญการ
อีกหนึ่งวินัยอัน นรเรียนและเชี่ยวชาญ
อีกคำเพระบรรสาน ฤดิแห่งประชาชน
ทั้งสี่ประการล้วน จะประสิทธิ์มนุญผล
ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี
คุณค่าด้านสังคม
มงคลสูตรคำฉันท์ เป็นวรรณคดีที่มีมาจาก “มงคลสูตร” ซึ่งเป็นคำสอนในทางพระพุทธศาสนาที่ทุกคนโดยเฉพาะพุทธศาสนิกชน เมื่อได้นำไปปฏิบัติแล้ว ย่อมจะทำให้ชีวิตประสบกับ “มงคล” หรือความสุขอย่างแท้จริง เนื่องจากแนวทางต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในมงคลสูตรทั้ง ๓๘ ประการ เน้นไปที่การนำไปปฏิบัติให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมด้วยตนเองเป็นสำคัญ นอกจากนี้หากทุกคนได้ยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม ย่อมส่งผลให้สังคมเจริญก้าวหน้าตามไปด้วย